ยินดีต้อนรับทุกท่าน

สวัสดีดีครับ
ผม ประกิต สารเสนา
ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

สาระที่ 1 พุทธศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม

การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
ศาสนาเป็นสิ่งที่มีมาช้านาน ในระยะแรกศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อขจัดความหวาดกลัวสิ่งต่างๆ ที่ล้อมรอบตัวของมนุษย์ คิดว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำของผู้มีฤทธิ์มากกว่าตน เมื่อมนุษย์เริ่มเรียนรู้ธรรมชาติมากขึ้นและเกิดเป็นศาสนาที่มีเหตุผลเข้ามาเป็นแบบแผนและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ความเชื่อศรัทธาในกิจกรรมหรือพิธีกรรมต่างๆ ของแต่ละศาสนาก็กลายมาเป็นประเพณี วัฒนธรรมที่ทำสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน
ศาสนาทุกศาสนา จะเป็นที่พึ่งทางใจของมนุษย์ มีหลักธรรมคำสั่งสอนที่มุ่งหมายสั่งสอนให้คนที่เป็นสมาชิกในสังคมเป็นคนดี มีคุณธรรมมีเหตุผลและศรัทธาในความถูกต้อง มีพิธีกรรมและเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นศาสนานั้นๆ บุคคลไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ บทบาทใดจะต้องยึดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต เพราะธรรมหรือหลักคำสอนจะช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆได้ อีกทั้งจะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
สำหรับคนไทยแล้ว ศาสนาเป็นสถาบันสำคัญของสังคมไทยโดยยอมรับศาสนาพุทธ เป็นศาสนาสำคัญประจำชาติและเปิดโอกาสให้บุคคลนับถือศาสนาต่างๆได้โดยอิสระ ยอมให้ศาสนาสำคัญทั้งปวงตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ เช่นศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ อินดู เป็นต้น แต่ศาสนาพุทธเป็นจุดรวมจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ จึงได้ยึดหลักธรรมมาเป็นพื้นฐานของชีวิตเพื่อที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศด้วย นอกจากศาสนาพุทธแล้ว ยังนำสิ่งที่มีคุณค่าของศาสนาอื่นมาผสมผสานกับหลักของศาสนาพุทธด้วย เช่น พิธีกรรมของพราหมณ์ในการตั้งศาลพระภูมิ การขึ้นบ้านใหม่ การเข้าร่วมทำกิจกรรมกับศาสนาอื่น โดยไม่ถือว่าเป็นการเสื่อมเสียหรือเป็นบาป ยอมรับการแต่งงานกับคนต่างศาสนาได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันของครอบครัว และยังให้การคุ้มครองป้องกันศาสนาและลัทธิความเชื่อทั้งหลายที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
หลักธรรมกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจและอารมณ์ สามารถจูงใจและผูกใจคนไว้ได้อย่างแน่นแฟ้น มนุษย์จะนำศาสนาที่คนนับถือติดตัวไปปฏิบัติหรือเผยแพร่ในที่ใหม่ ศาสนาไม่ใช่ของที่อยู่กับที่แต่จะอยู่ตรงที่หนึ่งที่ใดก็ต่อเมื่อมนุษย์ยังไม่อพยพไปไหน บุคคลที่เกิดมาในศาสนาใดก็จะนับถือศาสนานั้น และมีความประพฤติคล้ายกับบุคคลที่นับถือศาสนานั้นๆ เช่น เด็กฝรั่งที่ถูกเลี้ยงแบบไทยและให้นับถือศาสนาพุทธ ก็จะมีพฤติกรรมและความคิดอ่านไปในแบบไทยๆ เป็นต้น ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคม โดยเฉพาะหลักธรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตซึ่งทุกศาสนามีความสอดคล้องกัน โดยการยึดมั่นในการทำความดี ความสอดคล้องกันของหลักธรรมของแต่ละศาสนาทำให้บุคคลเข้าใจกัน อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข หลักธรรมที่ศาสนิกชนสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มีดังนี้
1. การทำความดี ละเว้นความชั่ว แนวทางการปฏิบัติของแต่ละศาสนาแตกต่างกันแต่ทุกศาสนาก็สอนให้ทำความดีและละเว้นความชั่วทั้งนั้น เช่น ศีล5 ของศาสนาพุทธ บัญญัติ 10 ประการของศาสนาคริสต์และหลักศรัทธา 6 ประการกับหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม เป็นต้น
2. การพัฒนาตนเองและการพึ่งตนเอง ศาสนาต่างๆ สอนให้คนพึ่งตนเองและพัฒนาตนเองเพื่อให้อยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่มีพุทธศาสนาสุภาษิต ว่า “อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ” หมายถึง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ศาสนาพราหมณ์มีหลักอาศรม 4 ในข้อพรหมจารี ที่ให้นักศึกษาเล่าเรียนและในข้อคฤหัสถ์ที่ให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง ศาสนาอิสลามสอนให้คนใฝ่หาความรู้ตั้งแต่เกิดจนตาย
3. ความยุติธรรม ความเสมอภาพและเสรีภาพ คำสอนของศาสนาจะเน้นในเรื่องเหล่านี้เพราะทุกเรื่องจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างันติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชาติตระกูลไม่ได้เป็นเครื่องกำหนดความแตกต่างของบุคคล คนที่เกิดมาเท่าเทียมกันทั้งนั้นและสอนให้ทุกคนอยู่ภายใต้อคติ 4 คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติและภยาคติ ศาสนาอิสลามก็สอนให้ดำรงความยุติธรรมอย่าถือตามอารมณ์ใคร่ในการรักษาความยุติธรรมแม้บางครั้งจะกระเทือนต่อตนเอง บิดามารดาหรือญาติบ้างก็ตาม
4. การเสียสละหรือการสังคมสงเคราะห์ศาสนาต่างๆ สอนให้มีความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และสงเคราะห์ซึ่งกันและกันด้วยความเมตตากรุณาไม่ใช่หวังผลตอบแทน เช่นพุทธศาสนามีหลักธรรมสังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตา ศาสนาอิสลามมีการบริจาค แก่ผู้ขัดสน ศาสนาคริสต์ก็จะเน้นให้มนุษย์เสียสละให้อภัย เอื้อเฟื้อเป็นต้น
5. ความอุตสาหะและความพยายาม ทุกศาสนาสอนให้คนมีความอุตสาหะ มีความเพียร ความอดทนและมีความพยายามอันจะช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จพร้อมทั้งพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ศาสนาพุทธมีคติเตือนใจว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น หรือหลักคำสอนอิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ศาสนาอิสลามมีการละหมาดวันละ 5 ครั้งจึงถือว่าเป็นความพยายามที่จะขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์
6. ความรักความเมตตา คำสอนทุกสาสนาจะเน้นเรื่องความรักความเมตตา เพราะการที่คนเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันตินั้น ความรักความเมตตาเป็นสื่อสำคัญอีกทั้งยังเป็นจริยธรรมของศาสนาคริสต์ ในพุทธศาสนาก็มีพุทธศาสนสุภาษิตว่า เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก
7. ความมีคุณธรรมอดทน อดกลั้น เกือบทุกศาสนา มีบทบัญญัติและข้อปฏิบัติในเรื่องนี้เหมือนกัน เช่น ศีลของศาสนาพุทธ บัญญัติ 10 ประการของศาสนาคริสต์ การถือศีลอดของศาสนาอิสลาม ทุกข้อปฏิบัติคือการให้คนมีคุณธรรม อดทนและอดกลั้น
8. การยกย่องเคารพบิดามารดาถือเป็นหลักสำคัญของศาสนาต่างๆ ว่าบุพการีเป็นสิ่งควรยกย่องในศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่าบิดา มารดาเป็นพระพรหมของลูก ศาสนาคริสต์มิใช่ในบัญญัติ 10 ประการ ข้อที่ 4 ว่า จงนับถือบิดา มารดาเป็นต้น
9. การไม่แบ่งชั้นวรรณะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กำเนิดชาติตระกูลมิได้ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์เป็นกษัตริย์ เป็นพ่อค่า ความประพฤติของบุคคลเป็นเครื่องกำหนดบุคคล ทุกคนเท่าเทียมกัน ศาสนาอิสลามถือเป็นหลักสำคัญว่า หลักศรัทธาและหลักบัญญัติต้องอยู่ในเงื่อนไขการไม่แบ่งชั้นวรรณะ

สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม

หน้าที่ของพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย
พลเมือง หมายถึง พละกำลังของประเทศ ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศนั่นเอง ต่างจากชาวต่างด้าวเข้าเมือง ชาวต่างประเทศนี้เข้ามาอยู่ชั่วคราว พลเมืองมีความหมายต่างจากบุคคล ซึ่งหมายถึง สิ่งซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สิทธิและหน้าที่เป็นสิ่งคู่กัน เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ พลเมืองของทุกประเทศมีทั้งสิทธิและหน้าที่ แต่จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ และแน่นอนว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิมากกว่าการปกครองในระบอบอื่น เพราะมีสิทธิที่สำคัญที่สุด คือ สิทธิในการปกครองตนเอง หน้าที่ของพลเมืองดี พลเมืองดี หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองได้ครบถ้วน ทั้งกิจที่ต้องทำ และกิจที่ควรทำ

หน้าที่ หมายถึง กิจที่ต้องทำ หรือควรทำ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ทำ หรือห้ามมิให้กระทำ ถ้าทำก็จะก่อให้เกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคมส่วนรวมแล้วแต่กรณี ถ้าไม่ทำหรือไม่ละเว้นการกระทำตามที่กำหนดจะได้รับผลเสียโดยตรง คือ ได้รับโทษ หรือถูกบังคับ เช่น ปรับ จำ คุก หรือประหารชีวิต เป็นต้น โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ต้องทำ ได้แก่ กฎหมาย เป็นต้น
กิจที่ควรทำ คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ หรือละเว้นการกระทำ ถ้าไม่ทำหรือละเว้นการกระทำ จะได้รับผลเสียโดยทางอ้อม เช่น ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย ผู้กระทำกิจที่ควรทำจะได้นับการยกย่องสรรเสริญจากคนในสังคม โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ควรทำ ได้แก่วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น

พลเมืองดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาติคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครู อาจารย์ มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามหลักจริยธรรม และหลักธรรมของสาสนา มีความรอบรู้ มีสติปัญญาขยันขันแข็ง สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี บุคคลจะเป็นพลเมืองดีของสังคมนั้น ต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติ และมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับหลักธรรม วัฒนธรรมประเพณี และรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ รวมทั้งบทบาททางสังคมที่ตนดำรงอยู่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้ประสิทธิผลทั้งในส่วนตนและสังคม เมื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ย่อมเกิดความภาคภูมิใจและเกิดผลดีทั้งต่อตนเองและสังคม ด้วยการเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น มีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนและสังคม มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามหลักธรรม การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามหลักธรรม เป็นหน้าที่ของพลเมืองดีพึงปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 1. จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม เป็นคำที่มักใช้ปะปนกัน หากจะพิจารณาความหมายของคำศัพท์ที่นำมาประกอบกันเป็นคำเหล่านี้ พอจะแยกได้ ดังนี้
จริย กริยาที่ควรประพฤติ
คุณ ดี มีประโยชน์
ศีล การประพฤติปฏิบัติดีตามปกติวิสัย

จริยธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย
คุณธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
ศีลธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย พร้อมกันนั้นก็สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย

ความสำคัญของจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม มนุษย์นับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และมีความสำคัญมากที่สุดในโลก เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สามารถเรียนรู้และรับการฝึกอบรมสั่งสอน จนสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อโลกได้ ในการเรียนรู้และการฝึกอบรมเพื่อสะสมประสบการณ์ชีวิต มนุษย์ควรได้รับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมไปด้วยพร้อม ๆ กัน เพราะคุณธรรมจริยธรรมมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นอย่างมาก อาจสรุปความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมได้ดังนี้ คือ
1. ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสงบสุข ไม่พบอุปสรรค
2. ช่วยให้คนเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอตัว ไม่ลืมตัว จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งใดก็จะระมัดระวังตัวอยู่เสมอ
3. ช่วยสร้างความมีระเบียบวินัยให้แก่บุคคลในชาติ
4. ช่วยควบคุมไม่ให้คนชั่วมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น นับว่าเป็นคุณแก่สังคม เพราะนอกจากจะเป็นตัวอย่างโดยการชี้นำ
ทางอ้อมแล้ว ยังจะออกปากแนะนำสั่งสอนโดยตรงได้อีกด้วย
5. ช่วยให้มนุษย์นำความรู้และประสบการณ์ ที่ร่ำเรียนมาสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า
6. ช่วยควบคุมการเจริญทางด้านวัตถุและจิตใจของคนให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน
7. ช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้มนุษย์

ความสำคัญของคุณธรรม และจริยธรรมที่กล่าวมานี้ ประเด็นที่สำคัญก็คือ สามารถลดปัญหา และขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคล สังคม และประเทศชาติได้ เมื่อทุกคนประพฤติปฏิบัติตนดีแล้ว อุปสรรค ศัตรู ภัยอันทราย ก็จะหมดสิ้นไป ผู้คนมีแต่ความรักต่อกัน สังคมมีแต่ความสงบ และประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรืองลักษณะของจริยธรรม คุณธรรม

คุณธรรมและจริยธรรม คือ สิ่งที่เป็นความดีควรประพฤติปฏิบัติ เพราะจะนำความสุข ความเจริญ ความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติ สังคม และบุคคล คุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้
1. ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศชาติ นับว่ามีพระคุณอย่างมหาศาล เพราะเป็นสถานที่ ที่เราทุกคนอยู่อาศัยอย่างผาสุกตั้งแต่เกิดจนตาย ให้เราได้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต ให้เราได้ภาคภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรีที่มีชาติเป้นของตนเอง ไม่เป็นทาสใคร เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อชาติ รักและหวงแหน ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้ชาติเป็นเอกสารสืบไป ป้องกันไม่ให้ผู้ใดมาทำลาย ปกป้องชื่อเสียงไม่ให้ใครมาดูแคลน และประพฤติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาติบ้านเมือง ศาสนา เป็นที่พึ่งทางกายและทางจิตใจ ทำให้มนุษย์ดำรงชีพร่วมกันในสังคมอย่างมีสันติสุข เรามีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงสถาพรสืบต่อไป ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา สร้างและบูรณะ ศาสนาสถาน ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมอยู่เป็นนิจ ประพฤติต่อผู้อื่นด้วยความสุจริตทั้ง กาย วาจา และใจ องค์พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นศูนย์รวมของชาวไทยทั้งประเทศ พระองค์ทรงเป็นผู้นำและผู้ปกป้องชาติและศาสนา ทรงบำบัดทุกข์และบำรุงสุข ให้แก่ราษฎรด้วยความเสียสละในทุก ๆ ด้าน เราต้องเทิดทูนพระองค์ไว้สูงสุด รับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างเต็มความสามารถ ประพฤติตนเป็นคนดีไม่เป็นภาระแก่พระองค์ และถ้ามีความจะเป็นแม้ชีวิตของเราเองก็สามารถจะถวายพลีชีพได้ เพื่อความเป็นปึกแผ่น และยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หมายถึง การปฏิบัติกิจการงานของตนเอง และที่ได้รับมอบหมายด้วยความมานะพยายาม อุทิศกำลังกาย กำลังใจอย่างเต็มความสามารถ ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยจนงานประสบความสำเร็จตรงตามเวลา บังเกิดผลดีต่อตนเองและส่วนรวม ทั้งนี้รวมไปถึงการรับผิดเมื่องานล้มเหลว พยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรคโดยไม่เกี่ยงงอนผู้อื่น
3. ความมีระเบียบวินัย หมายถึง การเป็นผู้รู้และปฏิบัติตามแบบแผนที่ตนเอง ครอบครัว และสังคมกำหนดไว้ โดยที่จะปฏิเสธไม่รับรู้กฎเกณฑ์หรือกตาต่าง ๆ ของสังคมไม่ได้ คุณธรรมข้อนี้ต้องใช้เวลาปลูกฝังเป็นเวลานาน และต้องปฏิบัติสม่ำเสมอจนกว่าจะปฏิบัติเองได้ และเกิดความเคยชิน การมีระเบียบวินัยช่วยให้สังคมสงบสุขบ้านเมืองมีความเรียบร้อย เจริญรุ่งเรือง
4. ความซื่อสัตย์ หมายถึง การปฏิบัติตน ทางกาย วาจา จิตใจ ที่ตรงไปตรงมา ไม่แสดงความคดโกงไม่หลอกลวง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ลั่นวาจาว่าจะทำงานสิ่งใดก็ต้องทำให้สำเร็จเป็นอย่างดี ไม่กลับกลอก มีความจริงใจต่อทุกคน จนเป็นที่ไว้วางใจของคนทุกคน
5. ความเสียสละ หมายถึง การปฏิบัติตนโดยอุทิศกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา เพื่อช่วยเหลือ
ผู้อื่นและสังคมด้วยความตั้งใจจริง มีเจตนาที่บริสุทธิ์ คุณธรรมด้านนี้เป็นการสะสมบารมีให้แก่ตนเอง ทำให้มีคนรักใคร่ไว้วางใจ เป็นที่ยกย่องของสังคม ผู้คนเคารพนับถือ
6. ความอดทน หมายถึง ความเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใด ๆ มุ่งมั่นที่จะทำงานให้บังเกิดผลดีโดยไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน ความอดทนมี 4 ลักษณะ คือ
- อดทนต่อความยากลำบาก เจ็บป่วย ได้รับทุกขเวทนาก็ไม่แสดงอาการจนเกินกว่าเหตุ
- อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่แสดงความโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท อดทนต่อคำเสียดสี
- อดทนต่อกิเลส คือ ไม่อยากได้ของผู้อื่นจนเกิดทุกข์ ไม่ตอบโต้คนอื่นที่ทำให้เราโกรธ และไม่ลุ่มหลงในสิ่งที่จะพาเราไปพบกับความเสียหาย
7. การไม่ทำบาป หมายถึง การงดเว้นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเพราะเป็นเรื่องเศร้าหมองของจิตใจ ควรงดเว้นพฤติกรรมชั่วร้าย 3 ทาง คือ
- ทางกาย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทุจริต ไม่ลักขโมย ไม่ผิดประเวณี
- ทางวาจา เช่น ไม่โกหก ไม่กล่าวถ้วยคำหยาบคาย ไม่ใส่ร้าย ไม่พูดเพ้อเจ้อ
- ทางใจ เช่น ไม่คิดเนรคุณ ไม่คิดอาฆาต ไม่คิดอยากได้
8. ความสามัคคี หมายถึง การที่ทุกคนมีความพร้อมกาย พร้อมใจ และพร้อมความคิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่มีการเกี่ยงงอนหรือคิดชิงดีชิงเด่นกัน ทุกคนมุ่งที่จะให้สังคมและประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีความรักใคร่กลมเกลียวกันด้วยความจริงใจ ความไม่เห็นแก่ตัว การวางตนเสมอต้นเสมอปลายก็หมายถึงความสามัคคีด้วย

การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรม คือ แบบแผนการกระทำ หรือผลการกระทำที่พัฒนาจากสภาพเดิมตามธรรมชาติให้ดีงามยั่งยืนจนเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ตัวอย่างแบบแผนการกระทำ เช่น กิริยา มารยาท การพูด การแต่งกาย การรับประทานอาหาร เป็นต้น ส่วนผลจากการกระทำ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
วัฒนธรรมการไหว้ เป็นวัฒนธรรมภายนอกที่มักได้รับการตอบสนองจากผู้ได้รับด้วยการไหว้ตอบนอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมไทยอื่นๆ ที่งดงาม เช่น การกราบ การแต่งกายแบบไทยในโอกาสต่าง ๆ
การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามประเพณีไทย
ขนบธรรมเนียมประเพณี คือ สิ่งที่ปฏิบัติสืบทอดสืบทอดกันมาและถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามของแต่ละสังคมอาจเหมือนกัน คล้ายกัน หรือแตกต่างกันก็ได้ และสิ่งที่ดีงามของสังคมหนึ่งเมื่อเวลาผ่าน ไปสังคมนั้นอาจเห็นเป็นสิ่งไม่ดีงามก็ได้
วัฒนธรรมและประเพณีไทย เป็นกิจกรรมที่สืบทอดมายาวนานและสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งดี
การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมไทยและสังคมโลก การที่บุคคลจะเป็นสมาชกที่ดีของสังคมไทยและสังคมโลก จะต้องคำนึงถึงสถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี

สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์

เกษตรทฤษฎีใหม่ใส่ใจภาวะโลกร้อน
การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นทฤษฎีแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารงานในการทำการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อ เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่ 1 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งลำดับขั้นตอน ดังนี้

1. พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30 % ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำ
ต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯลฯ)
2. พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30 % ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
3. พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30 % ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
4. พื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10 % ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ เช่น ถนน คันดิน กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น

ขั้นที่ 2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ดำเนินการในด้าน
2.1 การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
2.2 การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
2.3 ความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
2.4 สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิการและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้ให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ
2.5 การศึกษา มีโรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
2.6 สังคมและศาสนาชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสังคม จิตใจ มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว
กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ

ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เน้นการติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุรกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
ธนาคารกับบริษัทสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก
ธนาคารกับบริษัทจะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ไปทำการทดลองขยายผล ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิต จำนวน ๒๕ แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพภาค กระทรวงกลาโหม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินงานให้มีการนำเอาทฤษฎีใหม่นี้ไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น

สาระที่ 4 ประวัติศาสตร์

คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน (วัดป่าไทรงาม)
ประวัติวัดป่าไทรงาม
วัดป่าไทรงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2544 และยังได้รับพระราชทานรางวัลเข็มทองคำจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2545 ซึ่งแต่ก่อนวัดป่าไทรงามเป็นสุสานร้างกลางเมืองอำเภอเดชอุดม ล้อมรอบด้วยผืนนากว้างใหญ่ ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของ พระอธิการอเนก ยสทินฺโน ลูกศิษย์ของ หลวงปู่ชา สุภัทฺโธ วัดหนองป่าพง จึงได้ค่อยๆ ฟื้นฟู พัฒนา และปลูกป่า จนได้รับรางวัลในที่สุด

วัดป่าไทรงาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเดชอุดม ห่างจากสถานีขนส่งอำเภอเดชอุดมประมาณ 1 กิโลเมตร เริ่มก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์เมื่อปี พ.ศ.2515 อาศัยเนื้อที่ป่าสาธารณะ (ป่าช้า) บ้านตลาด จำนวน 25 ไร่ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ แห้งแล้ง กันดาร วัดป่าไทรงาม เกิดขึ้นจากชาวเดชอุดม ศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชา สุภัทฺโธ วัดหนองป่าพง ชาวอำเภอเดชอุดมจึงไปกราบนมัสการพระคุณเจ้าเพื่อมาชี้แนะแนวทางปฏิบัติ หลวงปู่ชา สุภัทฺโธ จึงให้ความเมตตาส่ง พระอธิการอเนก ยสทินฺโน ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นชาวเดชอุดม เป็นหัวหน้าคณะมาจำวัดอยู่สำนักสงฆ์แห่งนี้ นับเป็นสาขาที่ 10 ของวัดหนองป่าพง
ปกติสำนักสงฆ์แห่งนี้ มีพระคุณเจ้าจำพรรษาอยู่เป็นประจำทุกปี ประมาณ 8-10 รูป เนื่องจากในขณะนั้น มีวัดซึ่งเป็นเครือข่ายของวัดป่าไทรงามหลายแห่ง จึงได้ส่งพระคุณเจ้าที่เป็นลูกศิษย์ไปประจำสาขาดังกล่าว
วัดป่าไทรงามได้เป็นวัดสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันมีเนื้อที่ 130 ไร่ มีการขุดคลองกว้าง 8 เมตร ลึก 4 เมตร แล้วนำดินที่ขุดขึ้นมาทำคูดินให้เป็นกำแพงวัด ปลูกต้นไม้แทนรั้ว เสียงรบกวนต่างๆ และเสียงประกาศจากชุมชนรบกวนได้ยากเพราะกำแพงดิน กำแพงต้นไม้ ช่วยลดปริมาณความดังของเสียงลง และได้ประโยชน์จากน้ำเป็นการกักเก็บน้ำอย่างชาญฉลาด ให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ และยังเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำได้อย่างดี มีการปลูกบัวนานาชนิด นอกจากนี้ ยังช่วยลดอุณหภูมิในฤดูร้อนได้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2544 รับพระราชทานรางวัลเข็มทองคำจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2545 วัดป่าไทรงาม ยึดถือแนวคำสอนเหมือนวัดหนองป่าพง โดยสอนมุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนเกิดปัญญา แก้ปัญหาด้วยตนเอง อาศัยความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง ท่านทั้งเทศน์ให้ฟังและปฏิบัติเป็นแบบอย่างพระภิกษุสามเณรมีความเพียรในการปฏิบัติธรรมและทำกิจวัตรประจำวัน โดยอาศัยสติเป็นตัวกำหนดในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดสมาธิและก่อให้เกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ เนื่องจากวัดไม่มีเครื่องรางของขลัง ไม่แจกพระเครื่อง หลีกเลี่ยงที่จะรดน้ำมนต์ ไม่มีมหรสพในวัดไม่ว่ากรณีใดๆ การทำบุญไม่นิยมการเรี่ยไร ถ้าอยากทำขอให้ทำด้วยความศรัทธา

สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์

ภาวะโลกร้อน
สถานการณ์ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases)ปรากฏการณ์เรือนกระจก มีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวก คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด มิฉะนั้น โลกจะกลายเป็นแบบดวงจันทร์ ที่ตอนกลางคืนหนาวจัด (และ ตอนกลางวันร้อนจัด เพราะไม่มีบรรยากาศ กรองพลังงาน จาก ดวงอาทิตย์) ซึ่งการทำให้โลกอุ่นขึ้นเช่นนี้ คล้ายกับหลักการของ เรือนกระจก (ที่ใช้ปลูกพืช) จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ CO2 ที่ออกมาจาก โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือการกระทำใดๆที่เผา เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ) ส่งผลให้ระดับปริมาณ CO2 ในปัจจุบันสูงเกิน 300 ppm ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มากขึ้นนี้ ได้เพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ในโลกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็น ภาวะโลกร้อน

สาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อนเป็นภัยพิบัติที่มาถึง โดยที่เราทุกคนต่างทราบถึงสาเหตุของการเกิดเป็นอย่างดี นั่นคือ การที่มนุษย์เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นในทุกหนทุกแห่ง ประมาณ 1.4-5.8 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลกระทบของสภาวะโลกร้อน
อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเป็นทอดๆ และจะมีผลกระทบกับโลกในที่สุด ขณะนี้ผลกระทบดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการละลายของน้ำแข็งทั่วโลกทั้งที่เป็นธารน้ำแข็ง แหล่งน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก และในกรีนแลนด์ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก น้ำแข็งที่ละลายนี้จะไปเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทร เมื่อประกอบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำสูงขึ้น น้ำก็จะมีการขยายตัวร่วมด้วย ทำให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น

แนวทางการป้องกันภาวะโลกร้อน
1. ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม หากเป็นไปได้ ใช้วิธี เปิดหน้าต่าง ซึ่งบางช่วงที่อากาศดีๆ สามารถทำได้ เช่นหลังฝนตก หรือช่วงอากาศเย็น เป็นการลดค่าไฟ และ ลดความร้อน เนื่องจากหลักการทำความเย็นนั้นคือ การถ่ายเทความร้อนออก ดังนั้นเวลาเราใช้แอร์ จะเกิดปริมาณความร้อนบริเวณหลังเครื่องระบายความร้อน
2. เลือกใช้ระบบขนส่งมวลชน ในกรณีที่สามารถทำได้ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถตู้ รถเมล์เนื่องจากพาหนะ แต่ละคัน จะเกิดการเผาผลาญเชื้อเพลิง ซึ่งจะเกิดความร้อน และ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นเมื่อลดปริมาณจำนวนรถ ก็จะลดจำนวนการเผาไหม้บนท้องถนน ในแต่ละวันลงได้
3. พยายามรับประทานอาหารให้หมด เศษอาหารที่เหลือทิ้งไว้จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งก่อให้เกิดปริมาณความร้อนต่อโลก เมื่อหลายคนรวมๆกันก็เป็นปริมาณความร้อนที่มาก
4. ช่วยกันปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะคายความชุ่มชื้นให้กับโลก และดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุภาวะเรือนกระจก
5. การชวนกันออกไปเที่ยวธรรมชาติภายนอก ก็ช่วยลดการใช้ปริมาณไฟฟ้าได้
6. เวลาซื้อของพยายามไม่รับภาชนะที่เป็นโฟม หรือกรณีที่เป็นพลาสติก เช่นขวดน้ำพยายามนำกลับมาใช้อีก เนื่องจากพลาสติกเหล่านี้ทำการย่อยสลายยาก ต้องใช้ปริมาณความร้อน เหมือนกับตอนที่ผลิตมันมา ซึ่งจะก่อให้เกิดความร้อนกับโลกของเราเราสามารถนำกลับมาใช้เป็นภาชนะใส่น้ำแทนกระติกน้ำได้ หรือใช้ปลูกต้นไม้ก็ได้
7. ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ที่เคี้ยวเอื้อง เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ อุจจาระจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา ดังนั้นอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ เมื่อมีจำนวนมากก็จะก่อให้เกิดความร้อนกับโลกเรามาก
8. ใช้กระดาษด้วยความประหยัด กระดาษแต่ละแผ่น ทำมาจากการตัดต้นไม้ ซึ่งเป็นเสมือนปราการสำคัญของโลกเรา ดังนั้นการใช้กระดาษแต่ละแผ่นควรใช้ให้ประหยัดทั้งด้านหน้าหลัง ใช้เสร็จควรนำมาเป็นวัสดุรอง หรือ นำมาเช็ดกระจกก็ได้ นอกจากนี้การนำกระดาษไปเผาก็จะเกิดความร้อนต่อโลกเราเช่นกัน
9. ไม่สนับสนุนกิจการใดๆ ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรของโลกเรา และควรสนับสนุนกิจการที่มีการคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม

แบบทดสอบ

1. การกระทำลักษณะใดถือว่าเป็นการใช้ทรัพย์สินที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
ก. บัวลอยเสี่ยงโชคด้วยการซื้อลอตเตอรี่
ข. บัวบังใบ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่
ค. บัวหลวงนำเงินช่วยเหลือเพื่อนที่ถูกน้ำท่วม
ง. บัวช้อนนำเงินไปซื้อต้นไม้มาปลูก

2. ค่านิยมใดที่ควรปลูกฝังคนในสังคมไทยเพื่อเป็นพลังในการสร้างชาติ
ก. ความเอื้อเฟื้อ
ข. ความเมตตากรุณา
ค. ความสามัคคี
ง. ความโอบอ้อมอารี

3. ถ้านักเรียนมีความจำเป็นในการขี่รถจักรยานไปโรงเรียน ควรปฏิบัติอย่างไร
ก. ปฏิบัติตามกฎจราจรทั่วไป
ข. ศึกษาและปฏิบัติตามกฎจราจรทางบก
ค. ขับขี่ไปพร้อมกับเพื่อนๆ
ง. ขับขี่บนท้องถนนเหมือนรถยนต์ทั่วๆ ไป

4. ข้อใดเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย
ก. ซื้อสินค้าหนีภาษีเพราะได้ราคาถูก
ข. จอดรถที่ป้ายห้ามจอดเพราะสะดวกดี
ค. ทิ้งขยะลงบนถนนเพราะความสะดวก
ง. ข้ามถนนตรงทางม้าลายเพราะปลอดภัยดี

5. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีประโยชน์ต่ออาชีพใดมากที่สุด
ก. พ่อค้า
ข. เกษตรกร
ค. ชาวประมง
ง. นักธุรกิจ

6. ทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร
ก. การบริหารประเทศแบบใหม่
ข. การบริหารเศรษฐกิจแบบใหม่
ค. การบริหารจัดการที่ดิน และน้ำเพื่อการเกษตร
ง. การบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรม

7. อัตราส่วนการแบ่งพื้นที่การเกษตรทฤษฎีใหม่ คือข้อใด
ก. 10 : 30 : 30 : 30
ข. 30 : 10 : 30 : 30
ค. 30 : 30 : 10 : 30
ง. 30 : 30 : 30 : 10

8.โดยรวมภาวะโลกร้อนเกิดจากอะไรมากที่สุด
ก. การใช้เครื่องปรับอากาศ
ข. การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
ค. เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า
ง. เกิดจากการใช้รถยนต์

9. หากไม่เราช่วยกันลดปัญหาภาวะโลกร้อนจะเกิดอะไรขึ้น
ก. ทุกคนจะไร้ที่อยู่อาศัย
ข. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะสูญพันธ์
ค. เกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง
ง. เกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง

10. ข้อใดเป็นการลดสภาวะโลกร้อนได้ดีที่สุด
ก. อนันอาบน้ำเย็นแทนอุ่น
ข. ธีรวัฒน์เปิดพัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ
ค. ประกิตปลูกต้นไม้รอบๆบ้าน
ง. สมยศใช้จักรยานแทนรถยนต์

เฉลย

1. ก
2. ค
3. ก
4. ง
5. ข
6. ค
7. ง
8. ข
9. ค
10. ค